www.greeneryclinic.com

อาการปวดหลัง ปวดเอว เกิดได้อย่างไร

News & Event

ย้อนกลับ

อาการปวดหลัง ปวดเอว

อาการปวดหลัง ปวดเอว โรคที่พบได้บ่อยที่สุดในยุคสังคมออนไลน์ จนกลายเป็นโรคประจำตัวของใครหลายคนไปแล้ว ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ส่วนใหญ่จะเป็นวัยผู้ใหญ่ขึ้นไป และอาการปวดหลังมักเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ เช่น ในวัยทำงานหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ ที่ต้องนั่งหน้าจอ มือควบคุมเมาส์ทั้งวัน นั่งขับรถมากเกินไป เกิดจากกิจวัตรในชีวิตประจำวัน เช่น ออกกำลังกายมากเกินไป ที่นอนนุ่มเกินไป ท่านอนไม่เหมาะสม ยกของหนัก นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และหญิงที่มีการตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอย่างโรคอ้วนด้วย ฯลฯ เมื่อเรานั่งก้มๆ เงยๆ เป็นประจำในเวลานานๆ ไม่ค่อยได้ขยับเคลื่อนไหวร่างกาย ก็อาจส่งผลทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ หลังแข็ง จะขยับเอี้ยวตัวก็รู้สึกปวดเมื่อยสันหลัง ปวดบ่าไหล่ คอ แต่ก็จะหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณเตือนภัยของอาการปวดหลัง ปวดเอว ในระยะแรก แต่ถ้าหากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในแบบเดิมๆ อาการปวดหลัง ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อตึง บริเวณส่วนหลังหรือปวดเหนือบั้นเอวทั้งสองข้างก็สะสมไปเรื่อยๆ หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็อาจกลายเป็นอาการปวดหลังเรื้อรัง เป็นหนักจนรู้สึกว่าหลังขยับไม่ได้หรือปวดร้าว ชาจนลงไปถึงขาข้างใดข้างหนึ่ง จนลุกเดินไม่ได้ กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตไป เพราะฉะนั้้นจำเป็นจะต้องรีบรักษาพบแพทย์ทันที นอกจากนี้แล้วอาการปวดหลัง ปวดเอว ก็ยังมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของข้อต่อกระดูกสันหลัง ดังนี้

  1. หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (Herniated Nucleus Pulposus)
  2. ข้อกระดูกสันหลังเคล็ด (Acute Strains and Sprains)
  3. ข้อต่อกระดูกสันหลังติดตึง (Joint Stiffness)
  4. กระดูกเสื่อม (Osteoarthritis)
  5. ความผิดปกติของกระดูกไขสันหลังมาแต่กำเนิด

การรักษาอาการปวดหลัง ปวดเอว ด้วยวิธีต่าง ๆ

  1. การรักษาด้วยยา ในระยะแรกๆ ของอาการปวดหลัง ปวดเอวนั้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักหาซื้อยาตามร้านขายยาทั่วไปมากินเอง โดยบอกอาการคร่าวๆ และหมอก็จะจัดยาจำพวก ยาแก้ปวด ยาคลายเส้น ยาแก้อักเสบ แต่จะระงับอาการปวดได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่แนะนำให้กินบ่อยเกินไป เมื่ออาการปวดหลังลดลงแล้ว ก็ควรงดการกินยาแก้ปวดทันที
  2. การนอนพัก ในกรณีที่มีอาการปวดหลัง ปวดเอว อย่างรุนแรง ควรจะต้องนอน พักประมาณ 2-3 วัน ไม่ควรนอนพักเป็นเวลานานเกินไป เพราะหากผู้ที่มีอาการปวดหลัง ปวดเอวมีการลุกเดินและเคลื่อนไหวโดยเร็ว จะทำให้อาการปวดหลังหายเร็ว และสามารถกลับไปทำงานได้เร็วกว่าผู้ที่นอนพักเป็นเวลานาน
  3. การนวดคลายเส้น เป็นวิธีนวดแผนโบราณ ด้วยการใช้การใช้แรงบีบนวดจากฝ่ามือ กดตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เพื่อช่วยคลายเส้นกล้ามเนื้อ ที่ตึง เป็นผังผืด ลดอาการปวดเมื่อย ได้ดี ทำให้เกิดการผ่อนคลาย แต่จะไม่ช่วยรักษาที่ต้นเหตุของการปวดหลังได้ ในผู้ที่มีอาการปวดหลัง ปวดเอวที่เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังมีการฉีกขาด หรือมีการกดทับเส้นประสาท ควรจะหลีกเลี่ยงการนวด ด้วยวิธีการนวดคลายเส้นนี้
  4. การใช้ความร้อน จะช่วยลดอาการปวดหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะบรรเทาอาการปวดหลังได้เพียงชั่วคราว
    • การใช้แผ่นเจลเย็นวางบนบริเวณหลังที่มีอาการปวด เป็นเวลา 15-20 นาที ทำวันละ 3-4 ครั้ง ในช่วง 2-3 วันแรก
    • การใช้แผ่นความร้อน กระเป๋าน้ำร้อน หรือผ้าขนหนูชุปน้ำร้อน จะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดหลังให้วางแผ่นความร้อนที่บริเวณหลังประมาณ 15-20 นาที
  5. การรักษาด้วยเครื่องไฟฟ้า
    • การรักษาด้วยความร้อน Shortwave Diathermy หรืออัลตร้าซาวนด์นั้น จะช่วยลดอาการปวดหลังและให้ผลการรักษาเพียงระยะสั้น แต่ไม่ช่วยแก้ไขปัญหา และสาเหตุที่แท้จริงของการปวดหลัง
    • การรักษาด้วยเครื่องดึงหลัง การดึงหลังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศไทย และสาเหตุที่ต้องใช้เครื่องดึงหลัง ก็เนื่องมาจากแพทย์บางท่านที่ส่งต่อผู้ป่วยมาต้องการให้ใช้การดึงหลังด้วยเครื่อง ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาอันสั้น
  6. การฝังเข็ม เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้เข็มแทงไปในจุดฝังเข็มลงบนร่างกาย ซึ่งเราสามารถที่จะเลือกปักเข็มคลายกล้ามเนื้อเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งก็ได้ เพื่อช่วยให้การไหลเวียนของเลือดสะดวกขึ้น บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเอว ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อได้ดี
  7. การใส่ที่พยุงหลัง (Corset หรือ Lumbar Support) ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อลำตัวอ่อนแรง ควรจะใช้ที่พยุงหลังในขณะที่มีอาการปวดหลัง ปวดเอว รุนแรงในขณะเปลี่ยนท่าทาง เช่น การลุกจากท่านอน มาเป็นท่านั่งท่านั่งมาเป็นท่ายืน และเมื่ออาการปวดหลังทุเลาลงแล้วให้หยุดการใช้ที่พยุงหลังให้เร็วที่สุด
  8. การใส่ที่พยุงหลัง (Corset Support) เป็นอุปกรณ์เสริมที่ช่วยประคองเอวส่วนหลังในขณะที่มีอาการปวดหลัง ปวดเอว อยู่หลังจากการผ่าตัดหมอนรองกระดูกมา ในขณะเปลี่ยนท่าทาง เช่น การลุกจากท่านอน มาเป็นท่านั่ง ท่านั่งมาเป็นท่ายืน และเมื่ออาการปวดหลังทุเลาลงแล้วให้หยุดการใช้ที่พยุงหลังให้เร็วที่สุด
  9. การรักษาด้วยการผ่าตัด เมื่อมีอาการหนักบ่งชี้ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น มีอาการปวดสันหลัง ปวดร้าวไปยังสะโพก ขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือขาทั้งสองข้างอ่อนแรง จนลุกเดินไม่ได้ ควบคุมระบบขับถ่ายไม่ได้ น้ำหนักลดผิดปกติ อาการเหล่านี้ผู้ป่วยก็อาจต้องจบลงด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลัง และถึงแม้ผ่าตัดแล้ว ก็อาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำอีก เพราะบางท่านอาจมีอาการปวดหลังได้อีกหลังการผ่าตัด

วิธีป้องกันอาการปวดหลัง ปวดเอว

  1. ควรต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันแบบสม่ำเสมอ แต่ไม่ต้องมาก เพื่อทำให้กล้ามเนื้อส่วนหลังเกิดความคล่องตัว
  2. หากต้องออกแรงทำอะไรเช่น ยกของหนัก ควรจะต้องทำการยืดเส้น ลองเคลื่อนไหวแขนขา บิดเนื้อบิดตัว ให้คล่องก่อน เป็นการเตือนกล้ามเนื้อให้รู้ตัวก่อน จะได้ไม่เกิดอาการเกร็งและบาดเจ็บ
  3. หากมีอาการปวดหลัง ปวดเอว หรือปวดเมื่อยระหว่างทำงาน ควรหยุดพักก่อนอย่าฝืน
  4. หากอายุเพิ่มมากขึ้น เช่น อายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ควรจะต้องยืดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นในชีวิตประจำวัน เพื่อเตรียมพร้อมในการใช้งานให้คล่องตัว
  5. การใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดต่างๆ เช่น เครื่องอัลตราซาวน์ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อเพื่อลดอาการปวดหลัง ปวดเอว เป็นต้น
  6. การบริหารท่าต่างๆ เช่น การเล่นโยคะ เต้นแอโรบิค การนวดคลายกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ

หลักการบริหารร่างกายเพื่อรักษาอาการปวดหลัง ปวดเอว

สำหรับวัตถุประสงค์ของการบริหารร่างกายนี้ก็เพื่อเป็นการรักษาอาการปวดหลัง ปวดเอว เป็นวิธีการรักษาผู้ที่มีอาการปวดหลัง ปวดเอว ที่มีการพัฒนาเทคนิคการรักษาและผสมผสาน เทคนิคการรักษาหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น อาการหายเร็วขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยรักษาอาการปวดหลัง ปวดเอวนั้นก็คือ การเน้นดูแลรักษาอาการปวดหลังด้วยตนเอง ด้วยการบริหารร่างกายด้วยท่าบริหารที่เหมาะสมกับสาเหตุของการปวดหลัง โดยนักกายภาพบำบัดจะทำการตรวจร่างกายและวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุของการปวดหลัง เพื่อแนะนำท่าบริหารร่างกายที่เหมาะสมกับปัญหาของแต่ละท่าน ในผู้ที่มีอาการปวดหลังบางท่านอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการดัดดึงข้อต่อ กระดูกสันหลังร่วมด้วย ต้องมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรม ท่าทางให้ถูกต้อง และควรจะต้องเริ่มทำการบริหารร่างกายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานและท่าทางทันทีภายใน1-2วันหลังจากเริ่มมีอาการปวดหลัง และนอกจากนั้นแล้วยังมีการมุ่งเน้นถึงการป้องกันไม่ให้มีอาการปวดหลังซ้ำ